ศิลปินและผลงานศิลปะที่ควรรู้จักก่อนดูหนัง The Square
ศิลปินและผลงานศิลปะที่ควรรู้จักก่อนดูหนัง The Square
นอกจากผลงานศิลปะจัดวางจากกองก้อนกรวดในหนัง The Square ที่ได้แรงบันดาลใจจากงานศิลปะในโลกจริง ของ โรเบิร์ต สมิธสัน มา ดังที่กล่าวไปในตอนที่ผ่านมา ตัวศิลปินชื่อดัง (ในหนัง) เจ้าของผลงานชิ้นดังกล่าว ผู้มีนามว่า จูเลียน (รับบทโดย โดมินิค เวสต์) ในหนังนั้นก็ยังได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปินตัวจริงเสียงจริงผู้โด่งดังในวงการศิลปะโลกอีกด้วย โดยหนังหยิบทั้งชื่อและบุคลิกการแต่งกายของศิลปินชาวอเมริกันชื่อดังผู้มีชื่อว่า จูเลียน ชนาเบล (Julian Schnabel) มาใช้นั่นเอง
จูเลียน ชนาเบล เป็นจิตรกรผู้มีความโดดเด่นอย่างสูงในช่วงศตวรรษที่ 20 ในฐานะหัวหอกของงานจิตรกรรมในแนว นีโอ เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์* เขาเป็นที่รู้จักในวงการศิลปะร่วมสมัยในฐานะจิตรกรนักทดลองผู้สร้างสรรค์ ที่ไม่ได้จำกัดการเขียนภาพอยู่แต่บนผืนผ้าใบ หากแต่เป็นวัสดุหลากหลาย ทั้ง โลหะ, ไม้, หนัง, ไวนีล, กำมะหยี่ ฯลฯ ประกอบกับการใช้เศษวัสดุเหลือใช้หลากหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้เศษจาน เศษกระเบื้อง หรือเศษภาชนะแตก ๆ มาปะติดลงบนพื้นผิวของภาพและวาดทับลงไปอีกครั้งด้วยสีน้ำมันด้วยฝีแปรงหยาบกร้านทรงพลัง สีสันจัดจ้านรุนแรง จนกลายเป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัวที่ยากจะหาใครมาลอกเลียนแบบได้
นอกจากการทำงานศิลปะแล้ว ความหลงใหลอันยาวนานอีกประการหนึ่งของชนาเบลก็คือ “ภาพยนตร์” เขารักหนังมาตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัย และมันก็เป็นแรงบันดาลใจสำคัญอันหนึ่งในผลงานศิลปะของเขา เขาทั้งวาดภาพนักแสดงชื่อดังเพื่อนสนิทของเขาอย่าง เดนิส ฮอปเปอร์ รวมถึงทำงานศิลปะที่อุทศให้กับนักแสดงระดับตำนานอย่าง มาร์ลอน แบรนโด เลยทีเดียว ซึ่งในที่สุดความหลงใหลอันยาวนานของเขาก็กลายมาเป็นความจริง ด้วยชื่อเสียงและเงินทองที่เขาสั่งสมมาในฐานะจิตรกรชั้นแนวหน้าที่อนุญาตให้เขาหันเหมาทำในสิ่งที่เขารักอย่างแท้จริงได้
จูเลียน ชนาเบล ศิลปินผู้โปรดปรานการสวมชุดนอน, ภาพจาก http://forums.thefashionspot.com/f49/cats-pajamas-pajamas-clothing-159305.html
ทุกวันนี้ในฐานะคนทำหนัง ชนาเบลคงไม่ต้องพิสูจน์อะไรอีก ด้วยรางวัลกรังปรีซ์ของเทศกาลภาพยนตร์เวนิส จากหนัง Before Night Falls (2000) และรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์และการได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมจากหนังเรื่อง The Diving Bell and the Butterfly (2007) ที่เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี
เป็นที่รู้กันดีว่า จูเลียน ชนาเบล โปรดปรานการแต่งกายด้วยชุดนอนเอามากๆ นอกจากจะใส่ชุดนอนทำงานวาดภาพ หรือกำกับหนังแล้ว เขายังสวมชุดนอน (โดยทับเสื้อสูทและแจ็คเก็ต) ออกงานต่างๆ อย่างงานเปิดนิทรรศการศิลปะ หรือเดินบนพรมแดงในงานเทศกาลหนังต่างๆ อีกด้วย ซึ่งหนัง The Square ก็ได้หยิบเอาบุคลิกการแต่งกาย รวมถึงชื่อของชนาเบลมาใช้ในหนังนั่นแหละนะ
The Student of Prague (1983), จูเลียน ชนาเบล, สีน้ำมัน, เศษจาน, และเศษวัสดุบนแผ่นไม้, ภาพจาก https://www.guggenheim.org/artwork/20404 ..........................................................................
ศิลปินที่น่าจะทำความรู้จักก่อนดูหนังอีกคนก็คือ เทรซี เอมิน (Tracey Emin) ศิลปินร่วมสมัยชาวอังกฤษแห่งกลุ่ม YBAs** ผู้โด่งดังจากการทำงานศิลปะในแนว Confessional Art*** ที่ตีแผ่ชีวิตและความสัมพันธ์ส่วนตัวของตัวเองต่อสาธารณชน เอมิน สร้างสรรค์ผลงานในหลากหลายรูปแบบ ทั้งภาพวาด, ลายเส้น, ประติมากรรม, ภาพยนตร์ ภาพถ่าย ไปจนถึงงานเย็บปักและปะผ้า ในอดีตเธอเคยเป็นศิลปินตัวแสบของกลุ่ม YBAs และวงการศิลปะอังกฤษ ด้วยผลงานแสบสันต์อย่าง I Have Ever Slept With 1963–1995 (1995) ผลงานศิลปะในรูปเต็นท์ที่ปะผ้าเป็นชื่อของคนที่เธอเคยนอนร่วมเตียงด้วยทุกคน โดยแสดงในนิทรรศการ Sensation ในสถาบัน รอยัลอะคาเดมีออฟอาตส์ ลอนดอน ซึ่งแน่นอนว่ามันช็อกผู้ชมงานในยุคนั้นจนกระเจิดกระเจิง
หรือ My Bed (1998) ผลงานศิลปะจัดวางแบบ readymade ที่ประกอบด้วยเตียงนอนสกปรกยับยู่ยี่ที่เธอใช้เวลาอยู่บนนั้นนานหลายอาทิตย์ ทั้งดื่มเหล้า, สูบบุหรี่, กินอาหาร, หลับนอน และมีเพศสัมพันธ์บนเตียงนี้ในระหว่างที่เธอกำลังมีประจำเดือนอยู่ (คงไม่ต้องบอกว่าผ้าปูที่นอนจะเปรอะเลอะเทอะอะไรบ้างนะ!) บนพื้นพรมและโต๊ะข้างเตียง นอกจากจะเกลื่อนไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอย่างขวดเหล้า ซองบุหรี่ รองเท้าแตะแล้ว ยังมีหลอดเจลหล่อลื่น, ถุงยางใช้แล้ว และชุดชั้นในเปื้อนเลือดประจำเดือนวางทิ้งระเกะระกะอยู่อีกด้วย!
My Bed (1998), เทรซี เอมิน, ภาพจาก http://www.communicationinterne.net/my-bed-1998-tracey-emin/
เทรซี เอมิน ยังทำงานศิลปะจากหลอดนีออนที่เขียนเป็นตัวหนังสือ ถ้อยคำ และประโยคจากความในใจส่วนตัวของเธออย่าง “ Every Part of Me's Bleeding”, "I Can't Believe How Much You Loved Me”, “I Woke Up Wanting To Kiss You”, “It Was Just A Kiss” หรือ “Is Anal Sex Legal?” เป็นอาทิ
ศิลปะจากหลอดไฟนีออนของ เทรซี เอมิน, ภาพจาก http://www.traceyeminstudio.com/exhibitions/2013/12/angel-without-you/
เอาเป็นว่าใครได้ดูหนังแล้ว ก็ลองเดาดูกันเอาเองก็แล้วกัน ว่างานศิลปะชิ้นไหนหรือเหตุการณ์อะไรในหนังที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานสุดแสบสันต์ของเธอกันบ้าง ..........................................................................
ส่วนผลงานอีกชิ้นที่ให้แรงบันดาลใจแก่งานประติมากรรมจัดวางสุดพิลึกพิลั่นในหนัง ซึ่งประกอบด้วยกองเก้าอี้วางซ้อนกันจนสูงท่วมหัว ที่สั่นสะเทือนและส่งเสียงดังรบกวนบทสนทนาของตัวละครเอกในหนังอยู่เป็นระยะๆ ผลงานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดของศิลปินชาวสวีเดน คาร์ล แฮมโมด์ (Carl Hammoud) ที่มีชื่อว่า Destroy Restore (2011) ซึ่งเป็นภาพกองเก้าอี้หลากชนิดที่วางซ้อนกันจนมิดภาพ ด้วยฝีแปรงอันประณีตบรรจง และแสงอันละมุนละไม เขาวาดภาพข้าวของระเกะระกะอย่างกระดาษเปล่า หนังสือเก่า เก้าอี้และขวดเหล้าว่างเปล่า ที่วางกองอยู่ในห้องอันเงียบสงัดและรกร้างว่างเปล่า ราวกับจะเป็นการหาสมดุลย์ระหว่างความสับสนวุ่นวายและความเงียบสงบก็ปาน.
Destroy Restore (2011), คาร์ล แฮมโมด์, สีน้ำมันบนผ้าใบ, ภาพจาก http://www.artnet.com/artists/carl-hammoud/destroy-restore-QdMujhyR-wfbYkSa-52Oaw2
..........................................................................
*นีโอ เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Neo-expressionism) : เป็นสไตล์หนึ่งของงานศิลปะสมัยใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1970 และครอบครองตลาดศิลปะจนกระทั่งปี 1980 ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะแบบเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ มันถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อต่อต้านกระแสที่เชี่ยวกรากของงานศิลปะในแนวคอนเซ็ปช่วลและมินิมอลอาร์ตที่ละทิ้งอารมณ์และความรู้สึกโดยสิ้นเชิง โดยมักจะถ่ายทอดภาพและเรื่องราวที่คุ้นตา อย่างเช่นร่างกายของมนุษย์ ในอากัปกิริยาแปลกๆ ด้วยฝีแปรงหยาบกระด้าง สีสันที่ฉูดฉาดบาดตาและตัดกันอย่างรุนแรง และนำเสนอผลงานศิลปะที่ไม่มุ่งแสดงออกถึงความเป็นจริงอย่างเคร่งครัด หากแต่เน้นการแสดงออกอย่างฉับพลันจากอารมณ์ความรู้สึก จิตใต้สำนึกและสัญชาติญาณอย่างฉับพลัน
**YBAs หรือ Young British Artists เป็นชื่อของกลุ่มศิลปินหน้าใหม่รุ่นเยาว์ของอังกฤษในช่วงปลายยุค 1980s ที่เกาะกลุ่มกันหลวมๆ เพื่อแสดงนิทรรศการศิลปะร่วมกันในลอนดอน โดยมีศิลปินอย่าง เดเมียน เฮิร์สต์ (Damien Hirst), เทรซี เอมิน, แกรี ฮิวม์ (Gary Hume), ซารา์ ลูคัส (Sarah Lucas) เป็นอาทิ กลุ่ม YBAs ส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อความเคลื่อนไหวในวงการศิลปะร่วมสมัยของอังกฤษและของโลก ในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 ถึงต้นทศวรรษที่ 90 ศิลปินในกลุ่มต่างก็เป็นศิลปินผู้ทรงอิทธิพลอย่างสูงในวงการศิลปะในเวลาต่อมา
***Confessional Art ซึ่งเป็นงานศิลปะที่เป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปินหญิงที่ใช้ผลงานศิลปะเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องมือในการถ่ายทอดภาพชีวิต คล้ายกับอนุสรณ์หรืออัตชีวประวัติ โดยนอกจาก เทรซี เอมิน แล้ว ศิลปินหญิงคนอื่นที่ทำงานในแนวนี้ก็มี หลุยส์ บรูชัวร์ (Louise Bourgeois), โมนา ฮาร์ธอม (Mona Hartoum) และ โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono) เป็นอาทิ